วันมาฆบูชา
Image

ที่มาและความสำคัญของวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า "มาฆปุรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 เพื่อระลึกถึงโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูปที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย โดยมีใจความสำคัญที่กล่าวถึงการทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชา ได้แก่ การที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยทั้งหมดยังเป็นพระอรหันต์อีกด้วย กล่าวได้ว่าเป็นวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" (หรือโอวาทปาฏิโมกข์) แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งหลาย และให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อสานต่อให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองต่อไป

จาตุรงคสันนิบาต

เหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ 4 ประการ จึงเรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" โดยคำดังกล่าวมาจากรากศัพท์ จาตุร (สี่) + องค์ (ส่วน) + สันนิบาต (ประชุม) หรือการประชุมด้วยองค์ 4 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญ 4 ข้อที่เกิดขึ้นพร้อมกันดังนี้

  1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า อย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
  2. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว
  4. ตรงกับวันที่พระจันทร์เต็มดวงหรือวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3)                                                                                                                                           รุ่งทิพย์ : กราฟิก                                               กลุ่มเทคโนโลยีและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร  สำนักอำนวยการ