วันเด็กแห่งชาติ
Image

ประวัติ “วันเด็กแห่งชาติ” ทำไมต้องตรงกับเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม


            “วันเด็ก” มีขึ้นมาได้อย่างไร และที่จริงแล้วเคยตรงกับวันจันทร์มาก่อน แต่ถูกเลื่อนมาเป็นเสาร์แทน เพราะอะไรถึงต้องเป็นวันนี้ เช็กเลย!

“วันเด็กแห่งชาติ” ปัจจุบันตรงกับ วันเสาร์ที่ ของเดือนมกราคม แต่ก่อนจะเป็นวันเสาร์ จริงๆ แล้ว “วันเด็กแห่งชาติ” เคยจัดขึ้นในวันจันทร์มาก่อน!

             "วันเด็ก" ในประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม คือ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำแนะนำของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ 

 เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของตนในประเทศ ปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ 

รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตัวเอง เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ และจัดติดต่อกันมา 

ข้อมูลของกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่งานวันเด็กแห่งชาติไม่มี และเลื่อนออกไป 

ปี พ.ศ. 2508 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม

ด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน อีกทั้งวันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด และควรกำหนด "วันเด็ก" ไว้ในช่วงต้นปี ซึ่งหมายความว่า ทุกภาคส่วนจึงต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก ๆ คณะรัฐมนตรีในตอนนั้นจึงมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปี 2508 ไม่มีวันเด็ก อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ. 2508 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติ ด้วยการประกาศเปลี่ยนข้างต้น งานวันเด็กแห่งชาติจึงได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ใน พ.ศ. 2509 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คำขวัญวันเด็ก  มีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

"จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม"

ก่อนคำขวัญวันเด็กเว้นว่างไป 2 ปี 

จากนั้นในปี 2502 ก็มีคำขวัญวันเด็กต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน 

จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ให้คำขวัญในปี 2502 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า"

ก่อนวันเด็กจะเปลี่ยนแปลงมาจัดในเดือนมกราคม คำขวัญวันเด็ก ปี 2508 ของจอมพลถนอม กิตติขจร "เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี" 

และ คำขวัญที่ติดหูติดปากหลายๆคน คือ คำขวัญปี 2516 "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ"  ซึ่งให้ไว้โดย จอมพลถนอม  นายกรัฐมนตรีที่ให้คำขวัญวันเด็กไว้มากที่สุด ถึง 9 ครั้ง หรือ 9 ปี 

วันเด็กปี 2564 เป็นอีกปีที่งานวันเด็กถูกเลื่อนออกไป เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้คำขวัญในปีดังกล่าวไว้ว่า "เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม" ก่อนที่ในปีสุดท้ายของการทำงานของนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศจะให้คำขวัญไว้ว่า  รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ให้คำขวัญวันเด็กมากที่สุด เทียบเท่ากับ จอมพลถนอม 

ส่วนในปีนี้นั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้มอบคำขวัญเอาไว้ว่า "มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย"

วันเด็กแห่งชาติ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะได้พาลูกหลานไปเที่ยวกัน อย่างไรก็ตามอาจมีผู้คนเดินทางเข้าไปเยอะ อย่าลืมระมัดระวังทรัพย์สินและป้องกันตัวเองอย่างสูงสุดด้วย


นุชรี : อินโฟกราฟิก

กัลยรัตน์ : เว็บไซต์

กลุ่มเทคโนโลยีและสื่อสารภาพลักษณ์ สำนักอำนวยการ

ข้อมูล : PPTV36.com