ก
ก
ก

TH
สกสค. ร่วมประชุมระดมความคิดเห็น แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ของ สพฐ.โดยการมีส่วนร่วมของสหกรณ์
20 พ.ค. 2568
รายละเอียด
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็น “แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการมีส่วนร่วมของสหกรณ์” ณ ห้องประชุมรัชนีแจ่มจรัส ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. นายธนรัฐ โคจรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้าผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ร่วมให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “การประชุมในวันนี้ เป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา และหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทาง การบริหารจัดการหนี้สินของครูในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม โดยอาศัยสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นกลไกสำคัญในการประสานงาน ให้คำปรึกษา และดำเนินงานร่วมกับสหกรณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ตามหลักการที่ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯสันนิบาตสหกรณ์ฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและการใช้ระบบสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้และให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีความเข้าใจในการใช้หลักการวิธีการสหกรณ์ไปแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายหลักที่ทางภาครัฐต้องการ ไม่ว่าจะเป็น 1. การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 2. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำลง 3. จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น 4. ปรับลดการส่งรายเดือน และ 5. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้แก่สมาชิก สร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิก ให้ความรู้วางแผนทางด้านการเงินเพื่อสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออมและไม่ก่อหนี้เพิ่ม และ นำเสนอสรุปประเด็น การประชุม ใน 7 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือแจ้งข้อมูลรายชื่อครูหรือลูกหนี้กับบริษัทเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร 2. ตั้งสหกรณ์กลางภูมิภาคละ 1 แห่งเป็นสหกรณ์ต้นแบบ 3. ตั้งสถานีแก้หนี้ประจำจังหวัด 4.แก้ พระราชบัญญัติ สหกรณ์ มาตรา ( 42/1 ) 5.แก้ระเบียบกระทรวงการคลัง 6.ธนาคารขายหนี้เสียให้รัฐบาลบริหาร และ 7. งดให้กู้บำเหน็จตกทอด ฅ
กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางศึกษา และผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และมีมติร่วมกันเห็นควรให้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกันในหัวข้อ “ปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูที่รัฐบาลอยากแก้ไข : จะสำเร็จได้ด้วยระบบสหกรณ์” เพื่อวางแนวทางการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดปัญหาหนี้สินข้าราชการครูอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สันนิบาตสหกรณ์ฯได้ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาหนี้สินของครูซึ่งได้กลายเป็นวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของครูทั่วประเทศ ครูจำนวนมากมีภาระหนี้สินสะสมจากแหล่งต่าง ๆ ดังนั้น จึงต้องรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้สามารถวางแผนทางการเงินให้มีภูมิคุ้มกันทางการเงินต่อไปและเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูที่รัฐบาลอยากแก้ไข จะสำเร็จได้ด้วยระบบสหกรณ์” นายปรเมศวร์ กล่าว.
“การประชุมในครั้งนี้ จะได้แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ของ สพฐ. โดยการมีส่วนร่วมของสหกรณ์ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขอชื่นชมและขอขอบคุณสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งผู้ร่วมประชุมสามารถเข้าประชุมได้หลากหลายช่องทาง ทั้งการเข้าร่วมประชุมในสถานที่แห่งนี้ และประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านทุกฝ่าย สามารถนำแนวทางการแก้ไขหนี้สินครู ไปเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลในวงกว้างต่อไป”
ทั้งนี้ ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting และมอบหมาย นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้ชำนัญพิเศษสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ร่วมประชุม ณ สันนิบาตรสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568