
ผู้ประสงค์จะร่วมอนุโมทนาบุญ สามารถสแกนผ่าน QR Code
ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน
ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ต.ท่าราบ
อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี
วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น.
ประวัติวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร หรือ วัดใหญ่สุวรรณาราม
คือวัดแห่งเดียวกัน แต่ชาวบ้านมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดใหญ่”
เดิมตั้งอยู่ตำบลหน้าพระลาน เมื่อเทศบาลรวมเขตเข้ากับตำบลท่าราบ
ปัจจุบันจึงอยู่ในตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
วัดใหญ่สุวรรณาราม
สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาหรืออาจกว่านั้นขึ้นไป
ด้วยมีใบเสมาคู่พระอุโบสถเป็นหลักฐานอยู่
วัดนี้ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุล้ำค่าอยู่อีกหลายอย่าง ส่วนมากยังอยู่ในสภาพดี
เพราะได้รับการบำรุงรักษาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
เรื่องเกี่ยวกับประวัติของวัดใหญ่สุวรรณาราม ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน
แต่คงจะเป็นวัดมาก่อนที่สมเด็จพระสังฆราชแตงโมจะทำการบูรณปฏิสังขรณ์
ได้ทราบคำเล่าจากพระผู้สูงอายุของวัดใหญ่ฯ ชื่อหลวงตาแหยม สุปญ̣โญ
กับพระอาจารย์แบ้ ธม̣มสโร เล่าให้ฟังว่า วัดนี้เดิมทีชื่อ “วัดน้อยปากใต้ หรือ ปักษ์ใต้”
เพราะอยู่ทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำหรืออาจอยู่ริมนอกที่เป็นกำแพงเมืองทางด้านนอก
ข้อความตามตำนานวัดใหญ่ฯ ยังได้เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชแตงโม
เมื่อเป็นเด็กเคยเล่นน้ำที่ท่าน้ำหน้าวัดใหญ่ฯ
หิวโหยจนต้องดำน้ำลงกินเปลือกแตงโมที่ลอยน้ำมา เลยถูกเพื่อนเด็กวัดล้อว่า “เด็กแตงโม” มาแต่ครั้งนั้น
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชแตงโม
ท่านได้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อยปากใต้เสร็จสมบูรณ์ทั่วทั้งอารามแล้ว
ได้มีผู้เรียกวัดนี้ซึ่งเปลี่ยนฐานะจาก “วัดน้อย” มาเป็น “วัดใหญ่” ด้วยบารมีของสมเด็จพระสังฆราชในครั้งนั้น
เพราะมีสิ่งปลูกสร้างและเสนาสนะก็มีขนาดใหญ่แปลกออกไปจากเดิมด้วยประการทั้งปวงและยังได้เติมสร้อยวัดใหญ่ว่า
สุวรรณารามบ้าง สุวรรณธารามบ้าง
เพื่อเป็นอนุสรณ์เพราะลงนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราชท่านชื่อ “ทอง” หรือนามสร้อยของวัดใหญ่ฯ
ในครั้งนั้นได้จากสมณศักดิ์ของท่านแต่ครั้งที่เป็น “พระสุวรรณมุนี”
แต่จะเรียกขานเช่นนี้ภายหลังท่านมรณภาพหรือก่อนนั้นยังไม่ทราบได้
นอกจากนี้ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
ยังเล่าอีกว่า บานประตูศาลาการเปรียญวัดใหญ่ฯ ประตูกลางด้านตะวันออก
นอกจากเป็นของเก่าโดยฝีมือช่างชั้นเยี่ยมสรรค์สร้างไว้แล้ว
ยังเป็นประตูประวัติศาสตร์
เล่าว่าเคยถูกพม่าฟันด้วยขวานคือด้านซ้ายถูกเจาะเป็นรอยขวานเนื้อไม้ขาดหายไปมีขนาด
9 × 30 เซนติเมตร โดยพวกพม่าต้องการจะตรวจหาผู้คนที่หนีหลบซ่อนอยู่ภายใน
รอยฟันนั้นอาจฟันมากกว่า 1 ที แรงมากจนบานมีรอยแตกออกเป็น 2 ซีก
ต้องใช้ไม้ดามไว้ด้านหลัง มีเกร็ดเกี่ยวกับประตูเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า
ครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งในกรุงเทพฯ มาเที่ยวชมวัดใหญ่ฯ ที่ขุนศรีวังยศนำชม
บอกว่าประตูนี้ถูกพม่าฟัน ท่านเจ้าคุณย้อนถามว่า ท่านขุนรู้ได้อย่างไร ขุนศรีวังยศ
ตอบไปด้วยปฏิภาณว่า “ถึงพวกพม่ามันไม่ได้ฟัน
อ้ายคนใจพม่ามันก็ฟัน”
ภาพจากออินเตอร์เน็ต
ข้อมูลจากวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
กลุ่มเทคโนโลยีและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร
สำนักอำนวยการ